เราได้เคยพูดกันไปแล้วว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้ดี ก็คงจะไม่แปลกที่หลายๆ คนจะรู้สึกสนใจและอยากมีร้านอาหารเป็นของตัวเองบ้าง แต่การจะเปิดร้านอาหารสักร้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนอาจคิดว่าการเปิดร้านอาหารก็แค่หาพื้นที่แล้วก็ขายไปตามปกติ ซึ่งก็ถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมด

การจะเปิดร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่การหาพื้นที่แล้วขายก็จบ แต่เจ้าของร้านจะต้องมีกลยุทธ์ในการที่จะทำให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จด้วย โดยเฉพาะร้านอาหารที่เพิ่งเปิดใหม่จะต้องมีการวางแผนการทำธุรกิจร้านอาหารของตนไว้เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จักและสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น โดยกลยุทธ์และการวางแผนการทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่ทั้งหมด 9 ขั้นตอน คือ

1. คิดคอนเซ็ปต์ของร้านให้ชัดเจน

สิ่งแรกที่จะต้องคิดก่อนเปิดร้านอาหารก็คือคอนเซ็ปต์ของร้าน เราจะต้องรู้ให้แน่ก่อนว่า เราจะขายอะไร ขายให้ใคร และกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของเราเป็นใคร ชอบอะไร โดยจำไว้อย่างหนึ่งว่า รสชาติอาหารอาจไม่ใช่จุดขายเสมอไป เพราะหลายๆ ร้านก็โฆษณาว่าอาหารของตัวเองอร่อยกันทั้งนั้น บางครั้ง จุดขายของร้านอาหารอาจเป็นคอนเซ็ปต์หรือไอเดียที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนร้านอื่น เช่น ร้าน Rocket Coffeebar ที่นำเสนอเมนูแบบ all day breakfast และจะเปลี่ยนเมนูทุกเดือน เป็นต้น

2. เลือกทำเลที่เหมาะกับเราที่สุด

การจะเลือกทำเลเหมาะๆ สักที่สำหรับเปิดร้านอาหารจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ คือ ฐานลูกค้า การเข้าถึง การมองเห็น ที่จอดรถ คู่แข่ง รวมทั้งความแตกต่างของทำเลทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า หากเลือกทำเลในห้างสรรพสินค้าก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น และยังไม่ต้องกังวลถึงเรื่องที่จอดรถหรือสภาพอากาศ แต่อาจจะต้องเสียค่าเช่าที่แพง หากเป็นทำเลข้างนอกก็จะได้ค่าเช่าที่ถูกกว่า แต่อาจต้องเสี่ยงกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและที่จอดรถที่มีจำกัด หากได้ทำเลที่ใกล้กับร้านอาหารประเภทเดียวกันก็ควรสังเกตยอดขาย เพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคในการขายของเราด้วย

3. ตั้งชื่อร้านให้เรียกง่ายและติดหู

จะเปิดร้านอาหารก็ต้องมีชื่อร้าน แต่จะตั้งชื่อร้านว่าอะไรคงต้องใช้เวลาคิดสักหน่อย จะตั้งชื่อธรรมดาๆ ในยุคที่มีร้านอาหารเปิดเกลื่อนเมืองแบบนี้ก็คงจะไม่ได้ แต่จะตั้งชื่อแปลกๆ ใช้คำยากๆ ที่ไม่คุ้นหูคนไทยก็ไม่ดีอีก เพราะฉะนั้น หากต้องการตั้งชื่อให้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครก็อาจตั้งจากทำเลของร้าน เช่น ข้าวมันไก่ประตูน้ำโกอ่าง หรือตั้งตามประเภทอาหารที่ขาย เช่น ปังเว้ยเฮ้ย เพราะเป็นร้านขายขนมปัง เป็นต้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมใช้คำที่จำง่ายและติดหู และไม่ควรตั้งชื่อยาวจนเกินไป

4. หาแหล่งเงินทุน

เงินทุนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจทุกประเภท หากต้องการจะเปิดร้านอาหารจำเป็นจะต้องเตรียมเงินทุนให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน เช่น เงินมัดจำเช่าสถานที่ ค่าวัตถุดิบ ค่าอุปกรณ์ครัว ค่าตกแต่งร้าน รวมถึงค่าโฆษณาร้านตามช่องทางต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเงินทุนสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินอีกประมาณ 10% เช่น ค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ค่าขออนุญาตต่างๆ หรือค่ากราฟฟิก และยังจะต้องมีเผื่อสำรองในช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดร้านเพราะยังไม่รู้ว่าจะมีลูกค้ามากน้อยแค่ไหน โดยเงินทุนอาจเป็นเงินของตัวเอง เงินของครอบครัว หุ้นส่วน หรือธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

5. จัดทำแผนธุรกิจให้ครอบคลุม

เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่การทำธุรกิจจะต้องมีการวางแผน หรือที่เรียกว่า การทำแผนธุรกิจ (Business plan) การทำแผนธุรกิจก็เพื่อกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดทุน สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้นจำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนในหลายๆ ส่วน หากเรามีการวางแผนหรือแบ่งแยกรายละเอียดขั้นตอนในการเปิดร้านอาหารอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนหรือขณะเปิดร้าน โดยอาจเขียนลงบนกระดาษ ก็จะทำให้เห็นภาพปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะทำให้เรารู้ได้ว่าควรวางแผนธุรกิจอย่างไร

6. ตกแต่งร้านให้มีเอกลักษณ์

หากอยากจะเปิดร้านอาหาร แค่รสชาติอร่อยอาจไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าร้านอาหารเดี๋ยวนี้นิยมการตกแต่งที่มีสไตล์ ไม่ซ้ำใคร บางร้านก็เป็นร้านอาหารทั่วๆ ไป เมนูอาหารอาจไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก แต่การตกแต่งร้านที่ดูมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครเป็นเหมือนจุดขายที่ดึงดูดให้คนสนใจ หากใครไม่มีหัวทางด้านออกแบบก็อาจปรึกษาสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ โดยยกหน้าที่นี้ให้สถาปนิกหรือดีไซเนอร์เป็นคนจัดการ ก็จะช่วยให้ได้สไตล์ร้านที่ตรงใจ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานลูกค้า ทำเลของร้าน และงบประมาณที่ใช้ตกแต่งด้วย หากร้านดูหรูเกินไปอาจทำให้ลูกค้าไม่เข้าร้านเพราะคิดว่าราคาอาหารอาจแพง

7. จัดจานให้ดูน่ารับประทาน

สำหรับธุรกิจร้านอาหาร หัวใจสำคัญก็คือ อาหาร แม้จะมีการทำแผนธุรกิจ มีการตกแต่งร้านที่ไม่เหมือนใคร แต่หากอาหารดูธรรมดาที่หาที่ไหนก็ได้ อาจทำให้ลูกค้ามารับประทานแค่ครั้งเดียว แต่หากเราทำอาหารให้ดูน่าทานมากขึ้น เช่น ตกแต่งจานให้ดูมีสีสัน ก็จะทำให้ลูกค้าอยากลองทาน และนอกจากอาหารจะสำคัญแล้ว เมนูอาหารก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากๆ เพราะลูกค้าจะเลือกสั่งอาหารจากเมนูอาหาร ดังนั้น ก่อนที่จะมีการสั่งพิมพ์เมนูอาหาร เจ้าของร้านจะต้องรู้ก่อนว่าควรจะออกแบบเมนูอาหารอย่างไรเพื่อให้เข้ากับสไตล์ของร้าน และเพื่อทำให้ร้านอาหารดูน่าเข้ามากขึ้น

8. เฟ้นหาทีมงานที่มีคุณภาพ

ความคิดที่จะเปิดร้านอาหารสักร้านอาจมาจากเราคนเดียวก็จริง แต่เมื่อถึงตอนเปิดร้านจริงๆ เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ รวมทั้งเราเองอาจจะแค่อยากทำธุรกิจเพื่อหากำไรเท่านั้น ไม่ได้มีความสามารถในการทำอาหารหรือการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การหาพ่อครัวหรือพนักงานเสิร์ฟให้เข้ามาช่วยในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ การจะหาทีมงานที่มีคุณภาพอาจไม่ได้ดูจากประสบการณ์หรือทักษะ แต่ควรดูจากทัศนคติที่ดีในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านอาหารจะต้องเจออยู่ตลอดเวลา

9. เริ่มวางแผนการตลาดตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากจะต้องวางแผนในการทำธุรกิจแล้ว ยังต้องมีการวางแผนการตลาดด้วย และควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน เพราะหากไปเริ่มเอาตอนที่เปิดร้านแล้วอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย หากไม่มีความรู้ในเรื่องการวางแผนการตลาดก็สามารถเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์หรืองานสัมมนาต่างๆ นอกจากนี้ การจะทำการตลาดที่ดียังต้องอาศัยการทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่สิ่งที่ต้องระวังในการทำโปรโมชั่นคือลูกค้าบางกลุ่มอาจมาทานอาหารที่ร้านเพราะโปรโมชั่น และอาจหายไปหากเราไม่ได้ทำโปรโมชั่นแล้ว

ข้อมูล : amarinacademy.com

รูปภาพ : pixabay.com