หัวข้อในบทความนี้
ในช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่บ้าน หรือ อีกทั้งยังเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อและลดการรับเชื้อ ทั้งนี้ร้านอาหารได้ให้บริการแบบนำกลับไปทานที่บ้าน หรือ Take Away รวมไปถึงบริการสั่งอาหารแบบ Delivery จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้บริการร้านอาหาร Delivery มากยิ่งขึ้น
สำนักงานอนามัยได้แนะนำการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนี้
1. ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่
- คัดเลือกร้านอาหารได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
- ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ให้ความรู้คนขนส่งอาหาร เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธีและขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น
- จัดบริการหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือให้แก่คนขนส่งอาหาร
- จัดบริการตรวจสุขภาพให้แก่คนขนส่งอาหาร หากพบคนขนส่งอาหารมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
2. ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่
- อาหารปรุงสำเร็จต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
- จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่สำหรับล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ
- จัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนคนขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1 เมตร และมีการระบายอากาศที่ดี
- จัดหาภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท แข็งแรง ปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการขนส่ง ไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหาร
- อาหารปรุงสำเร็จ มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้านอาหาร วัน/เดือน/ปี ระยะเวลาที่ทานได้ เป็นต้น หากอาหารที่ใช้มือสัมผัสมากหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ นม แนะนำให้ผู้บริโภคนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
- หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
bangkokbanksme.com
3. คนขนส่งอาหารเดลิเวอรี่
- สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง ไอ จาม ปนเปื้อนอาหาร และลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานขนส่งอาหาร ก่อนเข้าร้านอาหาร หลังการส่งอาหารให้ผู้บริโภค จับเงินและหลังจับสิ่งสกปรก
- จัดหากล่องบรรจุอาหารที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง ปกปิดมิดชิด ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วย Alcohol 70% เป็นประจำทุกวัน
- ตรวจสอบคุณภาพอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารไม่มีกลิ่นเน่าเสีย บรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสภาพดี ไม่ชำรุด ปกปิดมิดชิด เป็นต้น
- การส่งอาหารต้องแยกเก็บอาหารเป็นสัดส่วน ระหว่างอาหารปรุงสำเร็จและเครื่องดื่ม โดยจัดส่งถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด
- จัดส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้อโดยตรงหรือจุดที่ผู้สั่งซื้อกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการผู้สั่งซื้อ คนขนส่งอาหารควรอยู่ห่างผู้รับอาหารอย่างน้อย 1 เมตร
- หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
techsauce.co
4. ผู้สั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร
- สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย ในระหว่างการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสั่งซื้ออาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารที่เน่าเสียง่าย อาหารที่ปรุงด้วยนม กะทิ ควรนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
- ตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหาร ไม่มีกลิ่นเน่าเสีย ภาชนะบรรจุ อาหารเหมาะ ปกปิดมิดชิด เป็นต้น
การที่เราปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่จัดการบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ คนขนส่งอาหารเดลิเวอรี่และผู้สั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ช่วงโควิด-19 ก็จะปลอดภัยกับทุกฝ่าย
ข้อมูล : thaihealth.or.th