แผนที่ เป็นส่งที่ช่วยนำทางเราไปยังสถานต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพราะในแผนที่จะบอกเส้นทางการเดินทางไว้อย่างละเอียด ช่วยให้เราเดินทางไปถึงที่หมายได้สะดวกขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว แผนที่ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะแผนที่สามารถใช้ได้หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน ด้านการศึกษา ด้านการทหาร และด้านเศรษฐกิจกับการปกครอง
แต่การออกแบบแผนที่ ก็มีส่วนประกอบต่าง ๆ มากมาย วันนี้เราจึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสัญลักษณ์บนแผนที่และการแสดงข้อมูลประกอบการออกแบบแผนที่ว่ามีความสำคัญอย่างไร มีกี่แบบกี่ประเภท ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลยค่ะ !
สัญลักษณ์บนแผนที่
สัญลักษณ์บนแผนที่ คือ รูป เครื่องหมาย เส้น หรือสี ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้แสดงรายละเอียดที่ปรากฏบนพื้นผิวโลก หรือแสดงข้อมูลอื่นลงในแผนที่ เพราะรายละเอียดบางส่วน ไม่สามารถแสดงลักษณะให้คล้ายจริงได้ จึงจำเป็นต้องคิดสัญลักษณ์ขึ้นมาทดแทน เพื่อให้แผนเหมาะกับการใช้งาน ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและเกิดความสวยงามได้อีกด้วย
การจำแนกลักษณะข้อมูลภูมิศาสตร์
การทำสัญลักษณ์บนแผนที่นั้น จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บนพื้นผิวโลก มาแสดงสร้างเป็นสัญลักษณ์ในแผนที่ จึงต้องจำแนกลักษณะข้อมูลภูมิศาสตร์ที่นำมาทำแผนที่ได้ 2 แบบ คือ
- ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) หมายถึง ข้อมูลที่ระบุลักษณะ จัดจำแนกเป็นกลุ่ม อยู่ในระดับการวัดมาตรา (Nominal) เช่น แผนที่การใช้ที่ดิน แสดงการจำแนกประเภทการใช้ที่ดินเป็นชนิดต่าง ๆ ตามมาตรฐานการจำแนกที่ดิน ซึ่งจะจำแนกประเภทแตกต่างกัน ตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแผนที่นั้น ๆ
- ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) หมายถึง ข้อมูลที่มีคุณสมบัติเชิงปริมาณ และเชิงเรียงลำดับ (Ordinal) เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน จำนวนประชากร ความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ เป็นต้น
การจำแนกชนิดของสัญลักษณ์
การจำแนกชนิดของสัญลักษณ์ เป็นขั้นตอนต่อจากการคัดเลือกข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของแผนที่แล้ว โดยจำแนกข้อมูลเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ ต่อมาจะคัดเลือกเอาสัญลักษณ์ที่เหมาะสมมาใช้เพื่อแทนข้อมูลภูมิศาสตร์ให้เป็นสัญลักษณ์บนแผนที่ิิ สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
- สัญลักษณ์ที่เป็นจุด (Point symbol) เป็นสัญลักษณ์ที่แทนตำแหน่งที่ตั้ง หรือบางชนิดอาจบอกถึงขนาด ซึ่งจะใช้แทนอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน บ้าน ที่ตั้งของเมืองหลวงเป็นต้น โดยสัญลักษณ์ชนิดนี้ อาจเป็นจุด วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือรูปแบบอื่น ๆ
- สัญลักษณ์ที่เป็นเส้น (Line symbol) เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่มีความยาว เช่น ถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ เส้นกั้นอาณาเขต เป็นต้น โดยสัญลักษณ์ชนิดนี้ อาจเป็นเส้นตรง เส้นทึบ เส้นประ เส้นที่ถูกแบ่งด้วยขีดสั้น ๆ และอาจใช้สีต่าง ๆ กัน
- สัญลักษณ์พื้นที่ (Area symbol) เป็นสัญลักษณ์ที่แทนพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ๆ เช่น ทุ่งนา ป่าไม้ แหล่งน้ำ การใช้ที่ดิน พื้นที่สวน พื้นที่ไร่ โดยสัญลักษณ์ชนิดนี้ อาจแสดงบางพื้นที่ให้มีสี หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ประกอบ เช่น พื้นที่นาจะมีสัญลักษณ์รูปต้นข้าวเล็ก ๆ ประกอบอยู่ด้วย หาดทรายจะมีจุดเล็ก ๆ ประกอบอยู่ด้วย เป็นต้น
การแสดงข้อมูลประกอบแผนที่
การแสดงข้อมูลประกอบแผนที่ มีชื่อเรียกทางภูมิศาสตร์ว่า Geographic name ซึ่งจะมีในแผนที่บางชนิด ยกตัวอย่างเช่น แผนที่ภูมิประเทศ ที่มีรายละเอียดของชื่อมากมาย โดยการวางชื่อทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นการกำกับสัญลักษณ์จุด เส้น และพื้นที่ให้เหมาะสมในแผนที่ จึงต้องมีลำดับขั้นตอน ดังนี้
ลำดับที่ 1 วางชื่อที่อยู่ในตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงยากและตำแหน่งที่คงที่ เช่น จุดความสูง (Spot height)
ลำดับที่ 2 วางชื่อที่กำกับสัญลักษณ์จุด เช่น ชื่อเมือง หากมีสิ่งกีดขวาง อาจจะเคลื่อนย้ายได้บ้างในตำแหน่งรอบ ๆ จุดนั้น ซึ่งมีตำแหน่งให้วางได้ 9 ตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น หากวางชื่อไว้ที่ตำแหน่งที่ 3 ก็ควรรักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้คงที่ เป็นต้น
ลำดับที่ 3 วางชื่อของข้อมูลชนิดเส้น เช่น ถนน แม่น้ำ โดยให้วางขนานไปกับแนวเส้นนั้น หากเส้นมีความกว้างมากพอ ที่จะสามารถเขียนได้ ให้เขียนชื่อลงไปในระหว่างเส้นนั้น
ลำดับที่ 4 วางชื่อของข้อมูลพื้นที่ โดยให้วางตามรูปร่างของพื้นที่และวางตรงกึ่งกลางของพื้นที่
การวางชื่อแผนที่ ควรให้ชื่อต่าง ๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่ว่าง ไม่ควรกระจุกอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ตัวอักษรมีขนาดเหมาะสม ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป ชื่อที่ใช้จะต้องชันเจน เข้าใจง่าย สะกดถูกต้องตามหลักภาษา และสื่อความหมายได้ถูกต้อง การวางชื่อต่าง ๆ ไม่ควรเหลื่อมซ้อนกัน และควรหลีกเลี่ยงการวางชื่อในบริเวณที่ซ้อนทับกับข้อมูลสำคัญ ในส่วนของสีพื้นหลังไม่ควรให้สีคล้ายคลึงกับสีของชื่อ เพราะอาจจะจำทำให้ไม่เห็นตัวอักษรได้
ข้อมูล : gistda.or.th และ phrae.go.th