การแพร่กระจายของ โรคโควิด-19 ที่ได้แพร่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามต่างจังหวัด หลายคนอยู่ในช่วงกักตัวเนื่องจากเสี่ยงติดโควิด-19 จึงทำให้มีการประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ แน่นอนว่าผลกระทบครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านหรือหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งพนักงานและลูกจ้างเองก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ ทำให้คนจำนวนมากต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ว่างงาน
หากใครที่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นแบบลูกจ้างประจำหรือแบบประกันตนเอง จะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือ ตามเงื่อนไขที่ประกันสังคมได้กำหนดไว้ ทั้งได้รับการชดเชยจากการว่างงานและการขยายเวลาในการจ่ายเงินสมทบ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่หากใครที่พอมีเงินเหลือเพียงพอใช้จ่าย และอยากร่วมทำบุญเพื่อช่วยโรงบาลผ่านวิกฤตโควิด-19 ก็สามารถร่วมทำบุยได้ตามช่องทางที่เราได้นำเสนอไป
เงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
1. ว่างงาน ด้วยเหตุสุดวิสัย
- ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน จ่าย 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
- หน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว จ่าย 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
2. ว่างงาน จากการลาออกหรือเลิกจ้าง
- ว่างงาน จากการลาออก จ่าย 45% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง จ่าย 70% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน
3. ลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตน
- ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน 4% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- ขยายเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. 63 ออกไปอีก 3 เดือน ดังนี้
– งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ค. 63
– งวดค่าจ้างเดือน เม.ย. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ส.ค. 63
– งวดค่าจ้างเดือน พ.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ย. 63
ขั้นตอน ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน กรณีว่างงาน จะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านหรือที่สะดวก ภายใน 30 วัน โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างที่เคยได้รับในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน แต่หากยื่นช้ากว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเลย ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิผู้ประกันตนกรณีว่างงาน จะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานด้วย
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมีดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์ของ กรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th/ โดยผู้ที่เข้ามาใช้บริการครั้งแรกต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน คลิกลงทะเบียนเข้าใช้งาน
2. อ่านข้อตกลงของการใช้บริการ ก่อนกดขั้นตอนต่อไป หลังจากนั้นกรอกข้อมูลตรงตรวจสอบเลขบัตรประจำตัวประชาชน กรอกเสร็จแล้ว กดบันทึกตรวจสอบข้อมูล
3. กรอกข้อมูลส่วนตัว กดบันทึกการลงทะเบียน
4. กดดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันกรณีว่างงาน แล้วขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยเลือกเมนูขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน
5. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อยแล้วเลือกที่ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงาน
6. เอกสารที่ต้องพิมพ์
- ใบนัดรายงานตัว
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
7. เอกสารที่ต้องยื่น ณ. สำนักงานประกันสังคม
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อผู้ประกันตน (ยกเว้นออมสิน/ธกส./UOB/Land&House)
แต่ในบางกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพราะส่งผลต่อธุรกิจ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ไม่มีนักท่องเที่ยว ด้านโรงงานผลิต ไม่มีวัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็นต้น นายจ้างอาจสั่งปิดกิจการชั่วคราวและเราไม่ต้องไปทำงาน แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย โดยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2551 กำหนดไว้ว่าจะได้รับไม่น้อยกว่า 75%
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเหตุสุดวิสัยที่ต้องหยุดงานเพราะโรคโควิด-19 แต่พนักงานและลูกจ้างเองก็ควรจะได้รับค่าจ้างตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ควรตรวจสอบตนเองว่าอยู่ในเงื่อนไขใดที่จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม เพื่อรักษาสิทธิ์ในการมีรายได้ของตนเอง
ที่มา chillpainai